Sunday, July 7, 2013

การเลือกซื้อลู่วิ่ง






การ ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นกีฬาที่ “น่าเบื่อ” สำหรับหลาย ๆ คนอยู่แล้ว ยิ่งหากต้องไปวิ่งอยู่บนสายพานในห้องแคบ ๆ ก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้หมดอารมณ์การวิ่งไปได้เลย แต่สำหรับ “นักวิ่ง” แล้วล่ะก็ การจำใจงดวิ่งหลาย ๆ วันอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ เช่น ช่วงฤดูฝนที่มีพายุเข้ามา หรือ มีงานให้ทำจนต้องกลับบ้านดึก ฯลฯ ก็อาจหนีไม่พ้นที่จะ “อยากวิ่ง” มากจนนึกถึงคุณประโยชน์ของลู่วิ่งไฟฟ้าขึ้นมาได้เหมือนกัน

ผมเขียนกระทู้นี้ขึ้นมา เพื่อ “แบ่งปัน” ประสบการณ์ในการใช้และเลือกซื้อลู่วิ่งไฟฟ้าของผมเองนะครับ เพราะหลังจากที่ใช้จนพังไปสองตัวแล้วจึงได้รู้ว่า คำแนะนำต่าง ๆ ของพนักงานขายลู่วิ่งนั้น “ไม่เพียงพอ” ต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะการใช้งานของนักวิ่ง หรือ นักเดินแต่ละท่านไม่เท่ากัน สเปคของเครื่องก็ต้องแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน ตัวเราเองควรจะรู้ได้เองว่าลู่วิ่งขนาดไหนจึงจะพอดีกับการใช้งานของเรา

สำหรับท่านที่ซื้อมาแล้ว กลายเป็นราวตากผ้า ฝุ่นจับ สนิมเกาะ ก็ไม่ว่ากันนะครับ แต่กรุณาอย่าเข้ามาคอมเมนต์ว่า “อย่าซื้อ เพราะจะกลายเป็นราวตากผ้าเหมือนที่บ้านผม” ฯลฯ (ต้องขออภัยที่ดักคอบางท่านไว้ก่อน) เพราะวินัย และ ความชอบ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นขอให้กระทู้นี้เป็นการแบ่งปันความรู้สำหรับการเลือกซื้อลู่วิ่ง อย่าให้ลามปามไปเป็นการ “บั่นทอนความตั้งใจ” ของคนที่ต้องการวิ่ง

ถ้าท่าน “ตัดสินใจ” แล้วว่าจะซื้อลู่วิ่งไฟฟ้าแน่นอนแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณา คืออะไรบ้าง

1. ยี่ห้อ และ ตัวแทนจำหน่าย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการซื้ออุปกรณ์ทุกชนิดที่เรา ไม่สามารถซ่อมหรือหาอะไหล่ได้เอง โดยส่วนตัวผมจะเลือกซื้อจากตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ นอกจากสามารถดูแลลูกค้าได้ดีแล้ว ต้องดูแลธุรกิจของเขาเองต่อไปได้ในอนาคตได้ด้วย ถ้าเปิดมาไม่นานแล้วปิดร้านไปก็คงจะทำให้การรับประกันมีประโยชน์น้อยลงไป อย่างแน่นอน และควรซื้อยี่ห้อที่เป็นผู้ผลิตเครื่องออกกำลังกายโดยตรง ไม่ใช่ยี่ห้อมือสมัครเล่นที่อยากเข้ามาลองทำธุรกิจนี้เพียงชั่วครั้งชั่ว คราว และต้องมีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

2. การรับประกันสินค้า ให้สอบถามให้ชัดเจนว่ารับประกันนานเท่าไร ครอบคลุมอะไรบ้าง โดยปกติ จะรับประกันมอเตอร์ 5 ปี (หรือบางรุ่นก็ 1ปี) และชิ้นส่วนอื่น ๆ 1 ปี

3. กำลังของมอเตอร์ ถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวพอสมควร ถ้าเราซื้อมาเพื่อ “เดิน” เป็นส่วนใหญ่ มอเตอร์ขนาด 1.5 แรงม้าก็เหลือเฟือแล้วครับ แทบไม่ต้องห่วงอะไร แต่ถ้าจะซื้อมา “วิ่ง” เป็นหลักแล้วล่ะก็ให้เลือกรุ่นที่มีมอเตอร์แรงกว่า 2.5 แรงม้าขึ้นไป โดยที่แรงม้าสูงสุด ควรเกิดที่รอบการหมุนไม่เกิน 4,000 รอบต่อนาที (RPM) เพราะการวิ่งค่อนข้างช้านั้นรอบการหมุนจะต่ำ แรงม้าอาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนสายพานให้ต่อเนื่องได้ดีนัก เราสามารถขอพนักงานขายเปิดให้ดูมอเตอร์ได้ครับ ไม่ได้ยากอะไร (ถ้าเขาไม่เปิด ก็ขอแนะนำว่าไม่ต้องซื้อ) ข้อควรทราบอีกประการหนึ่งสำหรับแรงม้าของมอเตอร์ที่กล่าวไว้ว่าควรเป็น 2.5 แรงม้าขึ้นไปนั้น ต้องเป็นแรงม้าแบบต่อเนื่อง (CHP: Continuous Horsepower) นะครับ ถ้าเป็นแรงม้าสูงสุดชั่วขณะ (PHP: Peak Horsepower) ไม่เข้าข่ายนี้ ควรทราบว่าการวิ่งแต่ละก้าวของเรานั้น จะเกิดแรงต้านเข้าไปที่มอเตอร์ หากมอเตอร์มีกำลังไม่พอก็จะทำให้เกิดการ “ชะงัก” ในแต่ละก้าวได้

4. ขนาดของสายพาน (Belt Size) กว้าง 45 ซม. ยาว 138 ซม. หนา 1.6 มิลลิเมตร ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการเดิน แต่หากต้องการวิ่งเป็นหลัก ควรเลือกรุ่นที่มีขนาดกว้าง 50 ซม. ยาว 150 ซม. ขึ้นไป และมีความหนาไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร

5. ขนาดของลูกกลิ้ง (Roller) ทรงกระบอก ที่ทำหน้าที่กลิ้ง ๆ หมุน ๆ สองตัวตรงด้านหน้าสุดกับท้ายสุดของสายพานนั่นแหละครับ หากเราต้องการใช้งานวิ่งก็ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว เพราะหากมีขนาดเล็กเกินไปแล้วล่ะก็มันจะต้องหมุนเร็วมาก ๆ ให้ทันกับการเคลื่อนที่ของสายพาน ลูกกลิ้งขนาดใหญ่จะมีรอบการหมุนน้อยกว่าลูกกลิ้งขนาดเล็กทำให้การเสื่อมสภาพ ของลูกปืนต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นช้ากว่าด้วย อีกทั้งจะทำให้สายพานสามารถยึดจับกับลูกกลิ้งได้ดีกว่า (ผิวสัมผัสมากกว่า)

6. ความหนาของไม้กระดาน สำหรับการซื้อมาใช้งานวิ่ง ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรต่ำกว่า 1 นิ้วครับ หรืออย่างน้อย 2 ซม. ก็อาจจะอนุโลมพอใช้ได้ เพราะผมเองมีประสบการณ์ วิ่งจนไม้กระดานที่บางหักมาแล้ว

7. โครงสร้างโดยทั่วไป ต้องแข็งแรงไม่โยกเยก ให้ลองขึ้นไปวิ่งดูเลยครับว่าต้องไม่สั่นและเสียงไม่ดัง ไม่ใช่ว่าวิ่ง ๆ ไป แล้วสั่นจนลู่วิ่งค่อย ๆ เคลื่อนไปจากตำแหน่งที่วาง หรือเสียงดังจนต้องตะโกนคุยกัน แบบนี้ใช้ไม่ได้

8. ความเร็วสูงสุด และ การปรับระดับความชัน ควรเลือกให้สามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่าความสามารถของเราเล็กน้อย ลู่วิ่งที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปบางรุ่นจะมีความเร็วสูงสุด 16 กม./ชม. (3:45 min/km.) แล้วถ้าเป็นรุ่นใหญ่ขึ้นมาอาจทำความเร็วได้ถึง 20 กม./ชม. (3 min/km.) ก็จะดีมากสำหรับนักวิ่ง เพราะเราสามารถใช้ฝึกวิ่งทำความเร็วบนสายพานนี้ได้เลย

9. ลู่วิ่งรุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบรองรับแรงกระแทกจากการวิ่ง ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บได้ด้วย ถือเป็นตัวเสริมจากการใช้รองเท้าวิ่งคุณภาพดี ๆ

10. ระบบความปลอดภัย เช่น ต้องมีระบบตัดการทำงานเมื่อเราเสียหลักหกล้ม อีกทั้งปุ่มควบคุมต่าง ๆ ต้องอ่านง่าย เห็นได้ชัด ฯลฯ

11. รายละเอียดอื่น ๆ เช่น บางรุ่นสามารถต่อเชื่อมกับอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ มีลำโพงสำหรับฟังเพลง ฯลฯ

No comments:

Post a Comment